random xúc xắc

ThaiPublica > คอลัมน์ > ปี 2566 คนกรุงเทพฯได้หายใจด้วยอากาศที่ได้มาตรฐาน WHO เพียง 32 วันเท่านั้น

ปี 2566 คนกรุงเทพฯได้หายใจด้วยอากาศที่ได้มาตรฐาน WHO เพียง 32 วันเท่านั้น

23 มีนาคม 2024

ประสาท มีแต้ม

ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เกือบทุกจังหวัดของประเทศไทยจะมีฝุ่นขนาดจิ๋วที่เรียกว่า “พีเอ็ม 2.5 (PM2.5)” ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมของมนุษย์ถึง 50-80 เท่า ในบางวันของบางจังหวัดมีความเข้มข้นของฝุ่นดังกล่าวสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก และสูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไปหลายเท่าตัว เป็นเช่นนี้มาหลายทศวรรษแล้ว นอกจากรัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ความรุนแรงของปัญหดังกล่าวากลับเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

แม้ว่าปัญหามลพิษทางอากาศที่เรียกว่า PM2.5 ดังกล่าวได้มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันทั่วโลกถึงปีละกว่า 7 ล้านคน
แต่คนไทยเราก็ยังไม่เข้าใจในภาพรวมและไม่เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาเท่าที่ควร เมื่อฤดูกาลฝุ่นผ่านไปเราก็จะลืมเรื่องสำคัญนี้ไปเฉยเลย แล้วปีหน้าค่อยมาว่ากันใหม่ วนเวียนกันอยู่เช่นนี้ ปีแล้วปีเล่า

เมื่อวันที่ 19 มีนาคมนี้ บริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านคุณภาพอากาศสัญชาติสวิสที่ชื่อ IQAir (ไอคิวแอร์ ก่อตั้งเมื่อปี 1963 โดยสองพี่น้องชาวเยอรมนีที่เป็นโรคหอบหืดเรื้อรัง) ได้ออกรายงาน “รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2023 (2023 World Air Quality Report)” ความหนา 45 หน้ากระดาษ โดยที่ข้อมูลมาจากการวัดคุณภาพอากาศจริงเกือบ 8 พันเมือง กว่า 3 หมื่นสถานีตรวจวัดทั่วโลก

ผมได้สรุปสาระสำคัญที่น่าสนใจของรายงานฉบับนี้ไว้ 5 ประการ ซึ่งผมจะขอขยายความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่า รัฐบาลไทยได้จำแนกระดับคุณภาพอากาศแตกต่างจากองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวคือ ในขณะที่องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำว่า ค่า PM2.5 เฉลี่ยทั้งปีของอากาศไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าดังกล่าวเพิ่งปรับลดลงมาจากเดิมเมื่อปี 2021 นี่เอง แต่รัฐบาลไทยเราได้แนะนำต่อประชาชนคนไทยว่า ถ้าค่า PM2.5 อยู่ในช่วง 0-25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถือว่า “คุณภาพอากาศดีมาก” ระดับ 26-50 ถือว่าคุณภาพดี ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ และกำหนดว่าระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพเมื่ออยู่ในช่วง 101-150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยระบุว่าเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง

โดยสรุปก็คือว่า เมื่อยึดเอาค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงต่อเนื่องมาเป็นเกณฑ์ รัฐบาลไทยเห็นว่าคนไทยสามารถทนต่อค่า PM2.5 ได้สูงกว่าที่ WHO เห็นถึงกว่า 6-7 เท่าตัว (เอา 100 หารด้วย 15)

อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการจะเข้าใจสภาพโดยรวมตลอดทั้งปี และยึดเอาเกณฑ์ของ WHO เป็นหลัก รายงานนี้พบว่า ในปี 2023 มีเพียง 10 ประเทศเท่านั้นที่ค่า PM2.5 ในอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ WHO แนะนำ เมื่อเรียงลำดับจากคุณภาพอากาศแย่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ประเทศไทยเราอยู่ในอันดับที่ 36 ดังภาพประกอบครับ

สอง ปี 2023 ค่า PM 2.5 เฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยเท่ากับ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่าที่ WHO แนะนำถึงเกือบ 5 เท่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ สูงเป็นอันดับ 36 ของโลก (จาก 134 ประเทศ) ค่า PM2.5 เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 28% ในขณะที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่เท่ากับ 21.3 และ 33.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ

สาม คราวนี้มาเจาะดูเป็นรายวันกันบ้าง รายงานฉบับนี้ (หน้าที่ 18) ได้นำเสนอคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ 5 ปีย้อนหลัง โดยจำแนกออกเป็นร้อยละของเวลาตลอดทั้งปีว่า คุณภาพอากาศเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้เราคำนวณได้ว่า

ในปี 2023 คุณภาพอากาศของกรุงเทพฯอยู่ในเกณฑ์ที่ WHO แนะนำเพียง 32 วันเท่านั้น ในขณะที่ปี 2019 ซึ่งเป็นปีที่เกิดโรคโควิดระบาดในช่วงปลายปี พบว่าคุณภาพอากาศผ่านเกณฑ์เพียง 18 วันเท่านั้น

สี่ รายงานฉบับนี้ได้มีคำอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) และมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM 2.5

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากสาเหตุหลักคือการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แล้วทำให้เกิด PM2.5 โดยตรง เมื่อเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลก็เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่งผลให้เกิด “โลกร้อน” แล้วส่งผลต่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกิดความแห้งแล้งแล้วนำไปสู่ไฟป่า เมื่อเกิดไฟป่าก็ปล่อย PM2.5 เพิ่มขึ้นมาอีก รายงานจึงได้มีคำแนะนำถึงสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้คือ สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการขนส่งสาธารณะ และใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ลดภาษีแบตเตอรี่ ห้ามการเผาในภาคการเกษตร และปรับปรุงการจัดการป่าเพื่อป้องกันไฟป่า

ห้า สิ่งที่เราในฐานะปัจเจกบุคคลสามารถทำได้คือ สนับสนุนกลุ่มคนที่รณรงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ รวมถึงแจ้งให้ผู้แทนในท้องถิ่นและระดับชาติเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายต่อไป

รายงานฉบับนี้ได้อ้างอิงถึงเอกสารวิชาการถึง 113 รายการ น่าสนใจศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าตัวฝุ่นจิ๋วที่มีขนาดเล็กมากที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าสามารถทะลุทะลวงเข้าไปถึงปอดและหลอดเลือดของมนุษย์ได้อย่างไร แต่ตอนนี้ผมขอจบเพียงแค่นี้ก่อน หวังว่าสาระสำคัญนี้จะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาอย่างยิ่งในประการที่ 5 จะได้รับการพิจารณาจากผู้อ่านนะครับ ช่วยกันขับเคลื่อนให้คนรุ่นเราและรุ่นหลังได้มีอากาศที่มีคุณภาพไว้หายใจ ขอบคุณครับ

keno online top 10 casino online casino trực tuyến baccarat online tải baccarat